ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย
ที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
ปิยบุตรา รักษาวงศ์
ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ)
สำนักการศึกษา เทศบาลนครภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ต
บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
ชื่อผู้วิจัย นางสาวปิยบุตรา รักษาวงศ์
ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
สังกัด โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ)
เทศบาลนครภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ปีที่วิจัย 2563
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ) สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 48 คน โดยเลือกนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง (ขุนวิเศษนุกูลกิจอุทิศ) สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 26 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากเด็กทุกห้องมีพัฒนาการใกล้เคียงกัน ผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการทดลองด้วยตนเองโดยทำการทดลองสัปดาห์ละ 1 วันวันละ 30 นาทีรวมระยะเวลาในการทดลอง 12 สัปดาห์รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ แผนการจัดกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้และแบบทดสอบวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นแล้วทดลองโดยใช้แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มตัวอย่างเดียวก่อน – หลังการทดลอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 1) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้มีประสิทธิภาพ 84.89/87.44ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3) ค่าดัชนีประสิทธิผลความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้เท่ากับ 0.608 (ร้อยละ 60.80)